เมื่อประมาณ ๔,๐๐๐-๒,๕๐๐ ปีมาแล้ว บริเวณที่เป็นพื้นที่ของจังหวัดสุพรรณบุรีในปัจจุบัน ได้เริ่มปรากฏหลักฐานการอยู่อาศัยของมนุษย์มาตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์สมัยเกษตรกรรม ในเขตอำเภออู่ทอง ดอนเจดีย์ ด่านช้าง และหนองหญ้าไซ ซึ่งอยู่ในช่วงสังคมเกษตรกรรม มนุษย์ดำรงชีวิตอยู่ด้วยการเพาะปลูกธัญญาหาร เช่น ข้าว และเลี้ยงสัตว์ เช่น วัว ควาย หมู ไก่ แต่ก็ยังคงมีการล่าสัตว์ หาของป่า จับสัตว์น้ำ เช่นเดียวกับในสมัยสังคมเก็บของป่าล่าสัตว์ก่อนหน้าที่จะเคลื่อนย้ายเข้ามาในพื้นที่ดังกล่าวอีกด้วย
มนุษย์เริ่มสร้างที่อยู่อาศัยเป็นแบบเรือนเครื่องผูกเสาสูง โดยใช้วัสดุที่อยู่ในท้องถิ่น มีการประดิษฐ์เครื่องมือจากหิน ไม้ และกระดูกสัตว์ เช่น ขวานหินขัด ใช้สำหรับบุกเบิกถากถางพื้นที่ทำการเพาะปลูกและใช้ล่าสัตว์ เมื่อพัฒนาการทางการเกษตรก้าวหน้าขึ้น จึงมีการผลิตภาชนะดินเผาขึ้นมาใช้งานอย่างแพร่หลาย ไม่ว่าจะเป็นการทำภาชนะสำหรับใส่อาหารเพื่อบริโภคและเก็บรักษาอาหาร หรือภาชนะรูปแบบพิเศษใช้ในพิธีกรรม ได้แก่ ภาชนะสามขาในวัฒนธรรมบ้านเก่า ภาชนะมีนม ภาชนะมีเขา ภาชนะทรงพาน ตกแต่งด้วยลวดลายขูดขีด ลายกดประทับ ลายปั้นแปะ เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังมีการค้นพบแวดินเผาซึ่งเป็นอุปกรณ์สำหรับการทอผ้า และรู้จักใช้พืชที่มีเส้นใยแข็งแรง เช่น ปอ ป่าน กัญชง นำมาปั่นเป็นเกลียวเชือกใช้งานก่อน ต่อมาจึงนำเชือกมาถักทออย่างง่าย ๆ เป็นตาข่ายและผืนผ้า สำหรับทำเครื่องนุ่งห่มได้
มนุษย์ในสมัยหินใหม่จากแหล่งโบราณคดีหนองราชวัตร อำเภอหนองหญ้าไซ จังหวัดสุพรรณบุรีเป็นตัวอย่างสำคัญของชุมชนแรกเริ่มในพื้นที่จังหวัดสุพรรณบุรีที่มีพิธีกรรมในการปลงศพให้แก่ผู้ล่วงลับ เป็นการฝังศพในท่านอนหงายเหยียดยาว มีการใส่สิ่งของอุทิศเพื่อให้ไปใช้ในโลกหลังความตาย เช่น ภาชนะดินเผาเต็มใบ กระดูกสัตว์ กำไลหิน กำไลกระดูกสัตว์ งาช้าง ลูกปัดหินทรงกระบอก เป็นต้น
ชุมชนยุคก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย สมัยเหล็ก ในจังหวัดสุพรรณบุรีซึ่งตั้งถิ่นฐานอยู่ตลอดแม่น้ำ กระเสียว ลำน้ำจรเข้สามพัน และลำน้ำท่าว้า–ท่าคอย ที่มีทรัพยากรธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์ ชุมชนหาของจากป่าและรวบรวมนำไปขายกับดินแดนอื่นทั้งที่อยู่ใกล้เคียงและโพ้นทะเล ชุมชนจึงมีการขยายตัวและเจริญมากขึ้น นำไปสู่การเป็นหนึ่งในชุมทางการค้าสำคัญของลุ่มแม่น้ำแม่กลองและลุ่มแม่น้ำท่าจีนที่สามารถเชื่อมต่อไปยังอ่าวไทยได้ บริเวณนี้จึงเปรียบเสมือนเป็นเส้นทางการค้าทางน้ำที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งในดินแดนสุวรรณภูมิ สำหรับชื่อ “สุวรรณภูมิ” ปรากฏในเอกสารโบราณของอินเดียและจีนหลายฉบับ ใช้เรียกดินแดนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในปัจจุบันที่ขนาบด้วย ๒ มหาสมุทร คือ มหาสมุทรแปซิฟิกอยู่ทางด้านตะวันออกกับมหาสมุทรอินเดียอยู่ทางด้านตะวันตก
ดินแดนสุวรรณภูมิรุ่งเรืองอย่างมากในสมัยอินโด-โรมัน ซึ่งเป็นยุคที่มีการขยายเส้นทางการค้าระหว่างอาณาจักรโรมันและอินเดียมาทางตะวันออกในพุทธศตวรรษที่ ๕-๙ หรือประมาณ ๒,๑๐๐-๑,๗๐๐ ปีมาแล้ว สุวรรณภูมิจึงนับเป็นศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนการค้าขายที่เชื่อมโยงระหว่างโลกตะวันตกและโลกตะวันออกเข้าไว้ด้วยกัน เหล่าพ่อค้าชาวสิงหล (หรือลังกา) ชาวชมพูทวีป (หรืออินเดีย) ชาวอาหรับ–เปอร์เซีย และชาวฮั่น (หรือจีน) เดินทางเข้ามาแลกเปลี่ยนค้าขายสินค้าและสิ่งของเครื่องใช้ภายในดินแดนแห่งนี้ โดยพ่อค้าจะแวะพักขนสินค้าข้ามคาบสมุทร ตลอดจนเข้ามาตั้งถิ่นฐานตามเมืองท่าต่าง ๆ ในบริเวณที่เป็นประเทศไทย ทำให้เกิดความหลากหลายทางเผ่าพันธุ์และวัฒนธรรม และมีสังคมที่ซับซ้อนที่พัฒนาตนเองเข้าสู่ยุคแรกเริ่มประวัติศาสตร์ ซึ่งจะเห็นได้จากโบราณวัตถุที่เป็นสินค้าแลกเปลี่ยนซื้อขายจากชุมชนโพ้นทะเล พบอยู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำแม่กลองและแม่น้ำท่าจีน
การติดต่อค้าขายกับดินแดนโพ้นทะเลที่มีอารยธรรมและเทคโนโลยีสูงกว่า เช่น อินเดีย นำมาซึ่งองค์ความรู้ที่สามารถประยุกต์ใช้ในวิถีชีวิต เช่น การประดิษฐ์เครื่องปั้นดินเผาที่มีพัฒนาการที่สูงขึ้น การเริ่มใช้โลหะสำริดและเหล็กทำเป็นเครื่องมือต่าง ๆ โบราณวัตถุสำคัญที่แสดงให้เห็นถึงการติดต่อแลกเปลี่ยนสินค้ากับชุมชนภายนอกในวัฒนธรรมซาหวิ่น (วัฒนธรรมสมัยโลหะในประเทศเวียดนาม) ได้แก่ ต่างหูรูปสัตว์ ๒ หัว พบที่บ้านหนองปรือ ตำบลท่าเสด็จ อำเภอเมืองสุพรรณบุรี มีลักษณะคล้ายคลึงกับที่ดอนตาเพชร อำเภอพนมทวน จังหวัดกาญจนบุรี ถ้ำตาบอน ประเทศฟิลิปปินส์ ประเทศเวียดนาม หมู่เกาะไต้หวัน และต่างหูทรงกลมมีปุ่มแหลม ๓ ปุ่มที่ขอบข้าง เรียกว่า ลิง-ลิง-โอ (Ling-Ling-O) มีลักษณะคล้ายกับที่พบที่ถ้ำดูยอง ถ้ำอูยอ ประเทศ ฟิลิปินส์ ส่วนในประเทศไทยพบที่แหล่งโบราณคดีอู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี แหล่งโบราณคดีเขาสามแก้ว จังหวัดชุมพร
นอกจากนี้ยังพบโบราณวัตถุอีกหลายรายการที่แสดงให้เห็นถึงการติดต่อค้าขายกับดินแดนภายนอก เช่น ลูกปัดแก้วมีตา ลูกปัดหินอาเกตและคาร์เนเลียน ลูกเต๋างาช้าง เหรียญกษาปณ์โรมัน (พบที่บริเวณเมืองโบราณอู่ทอง) ตะเกียงโรมันสำริด (พบที่เมืองโบราณพงตึก) ด้ามทัพพีสำริดรูปนกยูง ภาชนะสำริดแบบอินเดีย (High Tin Bronze) (พบที่แหล่งโบราณคดีบ้านดอนตาเพชร จังหวัดกาญจนบุรี) โบราณวัตถุเหล่านี้ล้วนเป็นสินค้านำเข้าที่พ่อค้านำมาแลกเปลี่ยนกับผลผลิตพื้นเมือง ได้แก่ เครื่องเทศ ไม้หอม ของป่า และแร่ธาตุต่าง ๆ เช่น ทองแดง ดีบุก เป็นต้น
เมื่อชุมชนยุคก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลายที่อาศัยอยู่ ณ บริเวณลุ่มน้ำในภาคกลางของประเทศไทย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของดินแดนสุวรรณภูมิ มีการติดต่อค้าขายสินค้ากับพ่อค้าชาวต่างชาติโดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวอินเดีย จึงได้รับเอาวัฒนธรรมด้านต่าง ๆ เช่น ศาสนาและภาษา มาปรับใช้กับวิถีชีวิตของชุมชน อันจะพัฒนาเข้าสู่สังคมยุคประวัติศาสตร์
ศาสนาจากอินเดียที่แพร่เข้ามาในดินแดนแถบนี้ คือ ศาสนาพุทธและศาสนาฮินดู ซึ่งส่งผลให้เกิดรูปแบบวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะท้องถิ่นขึ้นเรียกว่า “วัฒนธรรมทวารวดี” มีอายุประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๒–๑๖ คำว่า ทวารวดี เป็นภาษาสันสกฤต แปลว่า “ประกอบด้วยประตู” ชื่อ ทวารวดี มาจากการพบจารึกบนเหรียญเงินหลายเหรียญ เช่น ที่เมืองอู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี เมืองนครปฐม เมืองคูบัว จังหวัดราชบุรี เมืองดงคอน จังหวัดชัยนาท มีใจความว่า “ศฺรีทฺวารวตี ศฺวรปุณฺยะ” แปลว่า พระเจ้าทวารวดีผู้มีบุญอันประเสริฐ
ศูนย์กลางสำคัญของวัฒนธรรมทวารวดี ได้แก่ บริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่างถึงบริเวณฝั่งตะวันออกรอบอ่าวไทย และลุ่มแม่น้ำท่าจีน-แม่กลอง เมืองสำคัญในระยะแรก คือ เมืองอู่ทอง เมืองนครชัยศรี (หรือเมืองนครปฐมโบราณ) และเมืองคูบัว
ณ เมืองอู่ทองได้ค้นพบโบราณวัตถุศิลปะทวารวดีที่มีอิทธิพลจากศิลปะอินเดียสมัยอมราวดี คุปตะ และหลังคุปตะ ได้แก่ โบราณวัตถุเนื่องในศาสนาพุทธ เช่น ชิ้นส่วนพระสงฆ์อุ้มบาตร พระพุทธรูปนาคปรกที่แสดงถึงอิทธิพลศิลปะอมราวดี ส่วนธรรมจักรศิลาพร้อมแท่นและเสาตั้งซึ่งถือว่าพบอย่างสมบูรณ์ครบถ้วนชิ้นเดียวในประเทศไทย อันแสดงถึงอิทธิพลของศิลปะคุปตะจากอินเดีย จารึกแผ่นทองแดงที่พบจากเมืองโบราณ อู่ทองกล่าวถึง พระนามของพระเจ้าหรรษวรมัน (สันนิษฐานว่า อาจเป็นพระนามของกษัตริย์ทวารวดี) เศียรพระพุทธรูปทองคำ พระพุทธรูปและพระโพธิสัตว์สำริด ตราดินเผารูปสัญลักษณ์ทางศาสนา ส่วนโบราณวัตถุเนื่องในศาสนาฮินดู เช่น มุขลึงค์พร้อมฐานโยนี และเอกมุขลึงค์ เป็นต้น
ภายในเมืองอู่ทองและบริเวณโดยรอบยังพบเนินโบราณสถาน ที่เคยเป็นเจดีย์ตั้งอยู่เป็นกลุ่ม ๆ กระจัดกระจายกันอยู่ ซึ่งเจดีย์ถือเป็นสิ่งเคารพบูชาแทนพระพุทธเจ้า นอกจากนี้ยังมีโบราณสถานตั้งอยู่บริเวณเชิงเขาคอกทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของเมืองอู่ทอง เรียกว่า คอกช้างดิน ใช้เป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรมของศาสนาฮินดู
วัฒนธรรมเขมร (หรือที่เรียกว่าวัฒนธรรมขอมมาแต่เดิม) ได้เข้ามาสู่ดินแดนประเทศไทยมาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๒ หรือ ๑,๔๐๐ ปีมาแล้ว ในสมัยอาณาจักรเจนละซึ่งร่วมสมัยกับสมัยทวารวดีของไทย โดยเข้ามาผ่านทางศาสนาทั้งศาสนาพุทธมหายานและศาสนาฮินดู จากนั้นราวพุทธศตวรรษที่ ๑๖ เป็นต้นมา เมื่อวัฒนธรรมทวารวดีในภาคกลางเริ่มเสื่อมลงอันอาจเนื่องมาจากอำนาจทางการเมืองและอิทธิพลทางด้านวัฒนธรรมของเขมรจากเมืองพระนครหลวง (นครธม) ที่เข้ามามีบทบาทมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๘ ซึ่งตรงกับสมัยของพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ มหาราชองค์สุดท้ายของอาณาจักรเขมร พระองค์ทรงเลื่อมใสศาสนาพุทธมหายานเป็นอย่างยิ่ง
จากจารึกปราสาทพระขรรค์ที่พบในเมืองพระนครหลวงได้กล่าวถึง การสร้างพระชัยพุทธมหานาถ และนำไปประดิษฐานไว้ในปราสาทต่าง ๆ ในบริเวณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา เช่น ลโวทยปุระ หรือลพบุรี และสุวรรณ ปุระ ซึ่งนักวิชาการส่วนใหญ่เชื่อว่าอยู่ในเขตพื้นที่จังหวัดสุพรรณบุรี
ศาสนสถานสำคัญในสมัยนี้ ได้แก่ ปราสาทเนินทางพระ อยู่ที่อำเภอสามชุก จังหวัดสุพรรณบุรี เป็น ศาสนสถานในศาสนาพุทธแบบมหายาน มีอายุประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๘ ได้รับอิทธิพลวัฒนธรรมเขมรสมัยบายน ปราสาทแห่งนี้ตั้งอยู่กลางที่ราบลุ่มระหว่างแม่น้ำท่าคอยทางทิศตะวันตกกับแม่น้ำสุพรรณบุรีทางทิศตะวันออก พบร่องรอยของกำแพงล้อมรอบสองชั้น ไม่ปรากฏร่องรอยของคูน้ำคันดิน มีปราสาทตั้งอยู่ตรงกลางเป็นประธาน ปัจจุบันโบราณสถานแห่งนี้ถูกขุดทำลายจนเหลือเพียงเนินดินรูปสี่เหลี่ยม พบเศษศิลาแลง อิฐ ชิ้นส่วนปูนปั้นกระจายอยู่ทั่วไป
ประติมากรรมสำคัญที่พบในปราสาทเนินทางพระเป็นรูปแบบศิลปะเขมรแบบบายน ได้แก่ พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร ๔ กร ทำจากหินทราย (พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรเป็นพระโพธิสัตว์ที่ดูแลภัทรกัลป์ หรือกัลป์ปัจจุบัน) ตามคติความเชื่อในศาสนาพุทธมหายาน และน่าจะเคยประดิษฐานอยู่ภายในปราสาทเนินทางพระ นอกจากนี้ยังพบโบราณวัตถุจำนวนมาก เช่น พระพุทธรูปปางสมาธิทำจากปูนปั้นใช้ประดับสถาปัตยกรรม เศียรบุคคลสวมมงกุฎทรงเทริด ทำจากปูนปั้นรับอิทธิพลของศิลปะอินเดียแบบปาละและศิลปะพุกามของพม่า เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังพบร่องรอยของศาสนาฮินดูที่ปราสาทเนินทางพระ โดยพบประติมากรรมพระวิษณุตอนวามนาวตารหรือตรีวิกรม และพระพิฆเนศ เทพเจ้าองค์สำคัญของศาสนาฮินดูอันแสดงถึงร่องรอยความเชื่อในศาสนาฮินดูที่มีมาก่อนหน้านี้ หลักฐานศาสนาพุทธแบบมหายานที่ปราสาทเนินทางพระ แสดงถึงการเชื่อมต่ออันสำคัญของแนวความเชื่ออิทธิพลจากเขมรโบราณมาสู่ดินแดนลุ่มแม่น้ำท่าว้า–ท่าคอยกับลุ่มแม่น้ำท่าจีน แห่งนี้
ภายหลังจากที่พระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ มหาราชองค์สุดท้ายของอาณาจักรเขมรเสด็จสวรรคต อิทธิพลของเขมรในดินแดนประเทศไทยก็เริ่มเสื่อมถอยลง บ้านเมืองน้อยใหญ่ที่เคยอยู่ภายใต้อำนาจของเขมรเริ่มเป็นอิสระและสถาปนาอาณาจักรของตนเองขึ้น ในบริเวณภาคกลางด้านตะวันตกของลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาปรากฏชื่อเมืองสำคัญเมืองหนึ่ง ชื่อว่า สุพรรณภูมิ (ปัจจุบัน คือ สุพรรณบุรี) หลักฐานสำคัญที่กล่าวถึงชื่อเมืองสุพรรณภูมิ ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๙–๒๑ คือ จารึกหลักที่ ๑ ของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช (พ.ศ. ๑๘๒๖) กล่าวถึงเมือง “สุพรรณภูมิ” อยู่ทางทิศใต้ของกรุงสุโขทัย ดังความว่า
“....เบื้องหัวนอนรอดคนที พระบาง แพรก สุพรรณภูมิ ราชบุรี เพชรบุรี ศรีธรรมราช ฝั่งทะเลสมุทรเป็นที่แล้ว....”
สุพรรณภูมิจึงเป็นชื่อที่ใช้เรียกเมืองในบริเวณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาในช่วงพุทธศตรรษที่ ๑๙ ลงมา และเป็นเมืองสำคัญที่อยู่ร่วมสมัยกับกรุงสุโขทัยและนครศรีธรรมราช เป็นเมืองที่มีเจ้าเมืองปกครองสืบเนื่องมาจนถึงสมัยอยุธยาตอนต้น มีฐานะเป็นเมืองสำคัญคู่กับกรุงศรีอยุธยา
เมืองสุพรรณภูมิมีที่ตั้งอยู่ติดกับแม่น้ำสุพรรณบุรี มีกำแพงขนาบริมน้ำคอยป้องกันประชาชนจากอริราชศัตรู พื้นที่ภายในเป็นพื้นที่ราบลุ่มใช้ทำการเกษตร ปัจจุบันพบร่องรอยของเมืองโบราณสร้างซ้อนทับกันอยู่ ๒ สมัย เมืองสมัยแรกมีพื้นที่คลุมทั้งสองฝั่งแม่น้ำสุพรรณบุรี สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ ๑๙ ก่อนการสถาปนากรุงศรีอยุธยา และอาจเป็นเมืองสุพรรณภูมิ ส่วนเมืองสมัยหลังมีขนาดเล็กกว่าตั้งอยู่เฉพาะทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำสุพรรณบุรี กำแพงเมืองก่อด้วยอิฐและมีคูเมืองขนานไปกับแนวกำแพง ภายในคูเมืองมีป้อมกลางน้ำที่ปรากฏหลักฐานในปัจจุบัน จำนวน ๖ ป้อม สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในช่วงกลางถึงปลาย พุทธศตวรรษที่ ๒๐ ในสมัยอยุธยาตอนต้น มีศูนย์กลางเมือง คือ พระปรางค์วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ
ในพื้นที่เขตเมืองสุพรรณบุรีปรากฏศาสนสถานที่มีรูปแบบอันเป็นเอกลักษณ์ คือ เจดีย์ก่ออิฐทรงแปดเหลี่ยม เช่น เจดีย์วัดพระรูป วัดไก่เตี้ย วัดแร้ง วัดมรกต วัดพระอินทร์ เป็นต้น ห่างออกไปนอกกำแพงทางตอนเหนือ บริเวณริมแม่น้ำสุพรรณบุรี คือ แหล่งเตาเผาบ้านบางปูน เป็นเตาเผาทรงประทุน บริเวณนี้เป็นชุมชนช่างปั้นหม้อ ที่ประดิษฐ์ภาชนะหลากหลายรูปแบบ ทั้งทรงไหปากแตรและโอ่ง ตกแต่งลวดลายด้วยการกดประทับลายตั้งแต่ฐานล่างจนถึงคอภาชนะ เช่น ลายจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ลายการคล้องช้าง ลายใบเสมา เป็นต้น
สุพรรณภูมิ ละโว้ และสุโขทัยเป็นเมืองที่ยิ่งใหญ่มากในขณะนั้น ทั้งสามเมืองมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกันเสมือนเครือญาติ มีการเกณฑ์ไพร่พลไปร่วมรบกับเมืองที่แข็งข้อกันอยู่เสมอ จึงได้รับความยำเกรงอย่างมากจากทุกแว่นแคว้น ด้วยเหตุนี้ สุพรรณภูมิจึงเริ่มเป็นเมืองที่จะมีบทบาทในการสร้างกรุงศรีอยุธยาราชธานีแห่งใหม่ในกาลต่อมา ราวปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๙ สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ หรือพระเจ้าอู่ทอง ปฐมกษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยา มีความพยายามรวบรวมเมืองอิสระให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน โดยขยายอาณาเขตกรุงศรีอยุธยาไปยังกรุงสุโขทัย และอาณาจักรเขมร พระองค์ทรงโปรดให้พระราชโอรสคือ พระราเมศวร นำทัพออกไปทำศึกกับอาณาจักรเขมรแต่ต้องพ่ายแพ้กลับมา จึงทูลเชิญขุนหลวงพะงั่วเจ้าเมืองสุพรรณภูมิ ซึ่งเป็นฐานกำลังทหารที่คอยสนับสนุนกรุงศรีอยุธยามาช่วยในการศึกจนได้รับชัยชนะในที่สุด
ภายหลังการสวรรคตของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ เกิดเหตุการณ์วุ่นวายในกรุงศรีอยุธยา ขุนหลวง พะงั่วผู้ครองเมืองสุพรรณภูมิในขณะนั้นเข้าปราบปราม และเสวยราชสมบัติในกรุงศรีอยุธยาทรงพระนามว่า สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๑ และส่งพระราเมศวรไปครองเมืองลพบุรี
ราชวงศ์อู่ทองซึ่งมีฐานกำลังอยู่ที่เมืองลพบุรีกับราชวงศ์สุพรรณภูมิที่มีฐานกำลังที่เมืองสุพรรณภูมิ ต่อสู้แย่งชิงเข้ามามีอำนาจในกรุงศรีอยุธยา ในท้ายที่สุดราชวงศ์สุพรรณภูมิประสบผลสำเร็จ ในการสถาปนาอำนาจทางการเมืองในกรุงศรีอยุธยาได้เด็ดขาดในรัชสมัยของพระนครินทราธิราชหรือเจ้านครอินทร์
สมเด็จพระนครินทราธิราชทรงเป็นพระราชนัดดาในสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๑ เคยเสด็จพระราชดำเนินไปเฝ้าจักพรรดิจีนในฐานะพระราชโอรสของเจ้าเมืองสุพรรณภูมิ เมื่อ พ.ศ. ๑๙๒๐ ในการดำเนินความสัมพันธ์เช่นนี้ แสดงให้เห็นว่าสุพรรณภูมิเป็นอิสระจากอยุธยา ภายหลังเมื่อสมเด็จพระนครินทราธิราชทรงครองราชย์ ณ กรุงศรีอยุธยา การค้าระหว่างกรุงศรีอยุธยาและจีนก็มีมากขึ้นตามไปด้วย เมืองสุพรรณภูมิในสมัยของพระองค์ได้ผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของกรุงศรีอยุธยาในฐานะเมืองลูกหลวง และทรงแต่งตั้งพระโอรสทั้งสาม ไปครองเมืองลูกหลวง โดยเจ้าอ้ายพระยาครองเมืองสุพรรณภูมิ เจ้ายี่พระยาครองเมืองแพรกศรีราชา และเจ้าสามพระยาครองเมืองชัยนาท (ชื่อเดิมของเมืองพิษณุโลก)
เมื่อสมเด็จพระนครินทราธิราชเสด็จสวรรคต เกิดเหตุการณ์แย่งชิงราชสมบัติระหว่างเจ้าอ้ายพระยาและเจ้ายี่พระยา ทรงกระทำยุทธหัตถี ณ สะพานป่าถ่าน จนสิ้นพระชนม์ทั้งสองพระองค์ เจ้าสามพระยาจึงขึ้นเสวยราชสมบัติกรุงศรีอยุธยา ทรงพระนามว่า สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๒
ในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ผู้เป็นพระราชโอรสของสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๒ ได้ทำการปฏิรูประบบการปกครองกรุงศรีอยุธยา บทบาทของเมืองสุพรรณภูมิจึงเปลี่ยนฐานะเป็นเพียงหัวเมืองหนึ่งในเขตการปกครองราชธานี มีฐานะเทียบเท่าหัวเมืองชั้นจัตวาของกรุงศรีอยุธยา
เมื่อสมเด็จพระนเรศวรมหาราช พระราชโอรสของสมเด็จพระมหาธรรมราชา กษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยา ราชวงศ์สุโขทัย ประกาศให้กรุงศรีอยุธยาเป็นอิสระไม่ขึ้นแก่กรุงหงสาวดีเมื่อ พ.ศ. ๒๑๒๗ ทำให้ พระเจ้าหงสาวดีทรงพิโรธจึงได้ส่งกองทัพเข้ามารบพุ่งกับกรุงศรีอยุธยาหลายครา ซึ่งการเดินทางต้องใช้เส้นทางผ่านเมืองสุพรรณบุรีทั้งสิ้น ดังเช่น ทัพพระยาพะสิมยกทัพมาตีกรุงศรีอยุธยา ผ่านด่านเจดีย์สามองค์ กาญจนบุรี เข้าสู่เมืองสุพรรณบุรี การศึกในครั้งนี้ กรุงศรีอยุธยาก็ใช้เมืองสุพรรณบุรีเป็นสนามรบเพื่อป้องกันพระนคร
ในแผ่นดินสมเด็จพระนเรศวรมหาราช การศึกระหว่างกรุงศรีอยุธยาและหงสาวดีที่สำคัญที่สุด คือ สงครามยุทธหัตถี ซึ่งเชื่อว่าเกิดขึ้นในเขตแดนของเมืองสุพรรณบุรี ดังข้อความในพระราชพงศาวดารที่กล่าวถึงการเดินทัพของพระมหาอุปราชามายังตำบลตระพังตรุ เมืองสุพรรณบุรี ทรงให้ตั้งทัพที่นี่ ส่วนสมเด็จ พระนเรศวรมหาราชรับสั่งให้พระยาราชฤทธานนท์เป็นยกกระบัตร ยกไปขัดรับหน้าข้าศึก อยู่ ณ ตำบลหนองสาหร่าย เมืองสุพรรณบุรี
เพลารุ่งแล้ว ๕ นาฬิกา ๓ บาท สมเด็จพระนเรศวรเสด็จทรงช้างเจ้าพระยาไชยานุภาพออกรบ ณ ตำบลหนองสาหร่าย สมเด็จพระนเรศวรตรัสเรียกพระมหาอุปราชาด้วยสุรเสียงอันดังว่า
“...พระเจ้าพี่เราจะยืนอยู่ใยในร่มไม้เล่า เชิญออกมาทำยุทธหัตถีด้วยกัน ให้เป็นเกียรติยศไว้ในแผ่นดินเถิด...” พระมหาอุปราชาได้ฟังดังนั้นละอายพระทัยมีขัติยราชมานะ ก็บ่ายพระคชาธารออกมารับ
...สมเด็จพระนเรศวรทรงเบี่ยงหลบ พระแสงของ้าวจึงฟันถูกที่พระมาลาขาด เจ้าพระยาไชยานุภาพสะบัดลงได้ล่าง แบกถนัด พลายพัทกอเพลียกเบนไป สมเด็จพระนเรศวรได้ทีจ้วงฟันด้วยพระแสงพลพ่ายต้อง พระอังสาเบื้องขวาพระมหาอุปราชาตลอดลงมาจนประฉิมมุราประเทศ หรือขาดสะพายแล่ง ซบลงที่คอช้าง ชัยชนะตกเป็นของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช และให้มีการสร้างพระเจดีย์ไว้ ณ ที่แห่งนั้น
หลังจากมหาสงครามครั้งนี้จบลง เมืองสุพรรณบุรียังคงเป็นเส้นทางการเดินทัพและสนามยุทธสงครามอีกหลายครั้ง นอกจากนี้ยังปรากฏนามพระยาสุพรรณบุรี เจ้าเมืองสุพรรณบุรีเมื่อครั้งสมเด็จพระนเรศวรทรงยกทัพไปตีเมืองหงสาวดีและตองอูในฐานะนายกองด้วย ซึ่งตำแหน่งเจ้าพระยาสุพรรณบุรีเป็นตำแหน่งที่ราชสำนักแต่งตั้ง ไม่ได้สืบสายตระกูลมาจากราชวงศ์สุพรรณภูมิอีกต่อไป
บ้านเมืองภายหลังเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ ๒ เฉพาะที่อยู่ในขอบเขตอาณาบริเวณและเส้นทางศึกสงครามทุกหัวระแหงต่างตกอยู่ในสภาพบ้านแตกสาแหรกขาด แม้จะได้เริ่มฟื้นฟูบูรณะเมืองต่าง ๆ ในสมัย กรุงธนบุรี แต่เมืองสุพรรณบุรีก็ยังคงอยู่ในสภาพรกร้างจนสมัยรัตนโกสินทร์ ในปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ เมืองสุพรรณบุรีจึงได้เริ่มกลับมาตั้งชุมชนขึ้น
ราษฎรมีการปลูกสร้างบ้านเรือน เพาะปลูกพืชผลทางการเกษตร และสร้างวัดวาอารามขึ้นใหม่ เช่น การสร้างวัดประตูสาร ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๔) พระองค์ได้โปรดเกล้าฯให้พระยานิกรบดินทร์ฯร่วมกับหลวงพ่อกล่ำ (เจ้าอาวาสวัดประตูสารในครั้งนั้น) พระยาสุพรรณบุรีและกรมการเมืองร่วมกันบูรณะปฏิสังขรณ์วิหารและพระประธานวัดป่าเลไลยก์ และประดิษฐานพระราชลัญจกร ไว้ที่หน้าบันด้านหน้าวิหาร
ในสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ เสด็จฯเมืองสุพรรณบุรี ๒ ครั้ง ครั้งที่ ๑ ในการเสด็จประพาสต้น เมื่อวันที่ ๔ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๔๗ ครั้งที่ ๒ ในวันที่ ๒๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๕๑ จากการศึกษาพระราชหัตถเลขาและเอกสารเรื่องราวการเสด็จประพาสทั้งสองครั้ง จะเห็นได้ถึงความเจริญของชุมชนในเวลานั้น จากตัวเมืองหรือที่ตั้งของวัดป่าเลไลยก์สามารถเดินทางไปได้สองทางทั้งทางบกและทางน้ำ คือ คลองวัดป่า ที่ทรงตรัสว่า เหมือนคลองมหานาค เป็นที่ชุมนุมเล่นเพลงเรือ
ครั้นเมื่อถึงสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ เสด็จเมืองสุพรรณบุรี ๒ ครั้ง โดยครั้งแรกเพื่อบวงสรวงเจดีย์ยุทธหัตถีที่ดอนเจดีย์ เมื่อวันที่ ๒๗ มกราคม พ.ศ. ๒๔๕๖ หลังจากการรวมพลเสือป่า ณ ค่ายหลวงสนามจันทร์ จังหวัดนครปฐม และครั้งที่ ๒ ในการเสด็จประพาสเมืองสุพรรณบุรี เมื่อวันที่ ๒๓ กันยายน พ.ศ. ๒๔๖๖
นับตั้งแต่ที่สุพรรณบุรีมีกลุ่มคนเข้ามาอาศัยทำมาหากินตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ ความอุดมสมบูรณ์ของดินบวกกับความชุ่มฉ่ำของน้ำรวมกับความขยันขันแข็งของคน ทำให้เศรษฐกิจดีขึ้นจนทุกวันนี้ สุพรรณบุรียังคงมีพัฒนาการที่ไม่หยุดนิ่งอยู่ตลอดเวลา
มีเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นมากมาย หนึ่งในนั้น คือ การเสด็จพระราชดำเนินของพระบาทสมเด็จ พระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รวมทั้งพระบรมวงศานุวงศ์พระองค์อื่น ๆ
เมื่อวันที่ ๒๕ มกราคม พ.ศ. ๒๕๐๒ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนินจังหวัดสุพรรณบุรี ในการรัฐพิธีทรงประกอบพิธีเปิดพระบรม ราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ณ ตำบลดอนเจดีย์ จังหวัดสุพรรณบุรี
วันที่ ๒๕ มกราคม พ.ศ. ๒๕๐๓ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จพระราชดำเนินในรัฐพิธีถวายบังคมพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ณ ตำบลดอนเจดีย์ จังหวัดสุพรรณบุรี
วันที่ ๒๗ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๒๙ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งดำรงพระอิสริยยศสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ได้เสด็จเยี่ยมเยือนและทรงประกอบพระราชกรณียกิจสำคัญเกี่ยวกับการทำนาเพื่อเป็นขวัญและกำลังใจแก่เกษตรกร โดยทรงหว่านเมล็ดข้าวในแปลงนาสาธิต ณ บึงไผ่แขก นอกจากนี้ยังได้เสด็จพระราชดำเนินทรงเป็นองค์ประธานที่เกี่ยวข้องกับการทำนาที่จังหวัดสุพรรณบุรี รวม ๗ ครั้งด้วยกัน
เมื่อวันที่ ๔ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๓ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จพระราชดำเนินทรงเป็นประธานในพิธียกยอดพุ่มข้าวบิณฑ์ยอดมณฑป และสมโภชรอยพระพุทธบาทวัดเขาดีสลัก ตำบลดอนคา อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี
นอกเหนือจากระบบสาธารณูปการที่มีคุณภาพ และโครงสร้างพื้นฐานที่เพียบพร้อม ณ วันนี้สุพรรณบุรีเป็นจังหวัดที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นเมืองน่าอยู่และมีการวางผังเมืองได้ดีที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทย
กด "เล่นเสียงบรรยาย" เพื่อฟังการบรรยาย